หลักเกณฑ์การกำหนดมาตรฐาน Codex |
เกณฑ์การกำหนดงานใหม่
การเสนอเรื่องใหม่ เพื่อจัดทำเป็นมาตรฐาน (Standard) แนวทาง (Guideline) หรือ เอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสาขา (Codex Committee) ที่รับผิดชอบเป็นผู้เสนอเรื่อง โดยมีเกณฑ์การพิจารณาในขั้นแรก คือ
1) ควรเป็นเรื่องที่บรรจุอยู่ในแผนการดำเนินงานระยะกลาง (Medium-term Plan) ของคณะกรรมาธิการ ซึ่งจัดลำดับตามความสำคัญไว้แล้ว
2) พิจารณาว่ามีงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ CAC กำลังดำเนินการอยู่แล้วหรือไม่
3) กำหนดกรอบเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ควรประเมินข้อเสนอที่จะจัดทำว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่เป็นเรื่องทั่วไป (General subject) หรือที่เป็นสินค้า
(Commodity)
กรณีที่งานใหม่ไม่อยู่ในขอบข่ายความรับผิดชอบของคณะกรรมการวิชาการสาขาใด คณะกรรมการสาขาที่เสนอเรื่องจะส่งเรื่องเป็น
ลายลักษณ์อักษรไปยังคณะกรรมาธิการพร้อมข้อเสนอในการ
แก้ไขขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ครอบคลุมขอบข่ายงานที่จะกำหนดขึ้น
เกณฑ์มาตรฐานอาหารที่เป็นเรื่องทั่วไป
1. คุ้มครองผู้บริโภคในแง่สุขภาพและป้องกันการหลอกลวง
2. ความหลากหลายของกฎระเบียบของแต่ละประเทศ และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ
3. ของข่ายของงานและการจัดลำดับงาน
4. งานที่ได้ดำเนินการขององค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ในเรื่องเดียวกัน
เกณฑ์ของมาตรฐานอาหารที่เป็นสินค้า
1. คุ้มครองผู้บริโภคในแง่สุขภาพและป้องกันการหลอกลวง
2. ปริมาณการผลิตและการบริโภคของแต่ละประเทศ รวมทั้งปริมาณละรูปแบบของการค้าระหว่างประเทศ
3. ความหลากหลายของกฎระเบียบแต่ละประเทศ และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ
4. แนวโน้มทางการตลาดในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
5. ความพร้อมของผลิตภัณฑ์ที่จะมีการกำหนดมาตรฐาน
6. มีมาตรฐานที่เป็นเรื่องทั่วไปหรือที่จะเสนอ ครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือการค้าไว้แล้วหรือไม่
7. จำนวนผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องมีมาตรฐานที่แยกจากกันระหว่างวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และสินค้าสำเร็จรูป
8. งานที่ดำเนินการขององค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ในเรื่องเดียวกัน
หลักการทั่วไปในการกำหนดมาตรฐาน Codex
แถลงการณ์เรื่อง หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ (role of science) ในกระบวนการตัดสินใจของ Codex และปัจจัยประกอบการพิจารณาอื่นๆ
1. มาตรฐาน เอกสารหลักเกณฑ์และข้อแนะนำใดๆ ของ Codex จะต้องอยู่ภายใต้หลักการความถูกต้องตามวิธีวิเคราะห์และหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงการทบทวนข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้ได้มาตรฐานซึ่งใช้ประกันคุณภาพและความปลอดภัยในอาหาร
2. การกำหนดและตัดสินใจใดๆ ในเรื่องมาตรฐานอาหารของ Codex จะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านอื่นที่ถูกต้อง และเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคตลอดจนการส่งเสริมความเป็นธรรมในการค้า
3. เป็นที่รับรู้ว่า ฉลากอาหารมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสนับสนุนวัตถุประสงค์ 2 ประการของ Codex
4. ในสถานการณ์ซึ่งสมาชิกของ Codex ตกลงเห็นชอบเรื่องระดับความจำเป็นในการคุ้มครองสุขอนามัยแต่มีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับข้อพิจารณาอื่นๆ สมาชิกอาจงดการลงคะแนนเสียงยอมรับมาตรฐานเรื่องนั้น โดยไม่เป็นการยับยั้งการตัดสินใดๆ ของ Codex
แถลงการณ์เรื่อง หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาหาร
1. เกณฑ์การตัดสินของ Codex ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงข้อแนะนำอื่นใด ควรอยู่บนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยง
(risk assessment) อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์นั้นๆ
2. การประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาหาร ควรรวมขั้นตอนการประเมินทั้ง 4 ขั้นตอน และจัดทำเป็นเอกสารที่มีความโปร่งใส
3. ควรมีการแยกหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างการประเมินความเสี่ยง (risk assessment) และการจัดการความเสี่ยง (risk management)
แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อกัน ซึ่งจำเป็นในทางปฏิบัติ (pragmatic approach)
4. การประเมินความเสี่ยง ควรใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในเชิงปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการสรุปผลลักษณะความเสี่ยง
(risk characterizations) ควรนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเห็นเป็นประโยชน์