National Bureau of Agricultural Commodity and Food Standards

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

CODEX THAILAND

ความสำคัญของมาตรฐาน Codex

มาตรฐาน Codex เป็นมาตรฐานที่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ให้การยอมรับตามความตกลงว่าด้วยอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barrier to Trade; TBT) และความตกลงว่าด้วย การบังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measure; SPS) ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ และแนะนำให้ประเทศใช้มาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อการกำหนดมาตรการของประเทศ และจะใช้เป็นมาตรการที่จะเป็นข้อตัดสินในกรณีที่เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ

การดำเนินงานกำหนดมาตรฐานของ Codex มีหลักการความสอดคล้อง (Harmonization) ความเท่าเทียม (Equivalence) การประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบระดับของความคุ้มครองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและหลักการของความโปร่งใส (Transparency) มาตรฐาน Codex จึงเป็นมาตรการที่เหมาะสมทางด้านความปลอดภัยอาหารในการปกป้องความปลอดภัยของผู้บริโภค และอำนวยความสะดวกต่อการค้า




บทบาทสำคัญของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในงาน Codex

1. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน Codex (Codex Contact Point)

2. พิจารณาร่างมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ โดยประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้
ส่วนเสีย เพื่อหาข้อสรุป เหตุผลในการโต้แย้ง หรือยอมรับมาตรฐานนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

3. พิจารณา ผลักดัน และส่งเสริมให้การกำหนดมาตรฐานของ Codex สอดคล้องตามมาตรฐานของประเทศไทย

4. กำหนดแผนงานที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับงานของ Codex และติดต่อประสาน รวมทั้งจัดส่งผู้แทนประเทศไทย ไปร่วมประชุม
ในคณะกรรมาธิการ คณะกรรมการสาขาต่างๆ และคณะกรรมการประสานงานกลุ่มภูมิภาค

5. พิจารณาดำเนินการ ติดต่อ ร่วมมือ และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศในด้านมาตรฐานอาหาร

6. พิจารณาเสนอการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจสาขาต่างๆ เพื่อพิจารณางานที่เกี่ยวข้องกับ Codex