มกอช. จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกเข้าสู่ระบบมาตรฐานบังคับภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070 - 2566) ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพ

24 Mar 2568
113
มกอช. จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกเข้าสู่ระบบมาตรฐานบังคับภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070 - 2566) ครั้งที่ 2  ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพ
           สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดยกองควบคุมมาตรฐาน จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกเข้าสู่ระบบมาตรฐานบังคับภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070 - 2566) ครั้งที่ 2 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ แนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ การรับคำขอใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ผ่านระบบ TAS License รวมถึงวิธีการแจ้งนำเข้า ส่งออก ผ่านระบบ TAS License ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพ
           โครงการดังกล่าวมีกิจกรรมการบรรยายการเตรียมความพร้อมเพื่อขอการรับรองมาตรฐานบังคับ หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566) และการขอใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต/ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า ตามมาตรฐานบังคับ ผ่านระบบ TAS – License และกิจกรรมการออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการรับคำขอใบอนุญาต และให้คำปรึกษา (Mobile Unit) รวมถึงการออกบูธรับคำขอใบรับรองมาตรฐาน มกษ. 9070-2566 และให้คำปรึกษาโดยผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน (CB) ทั้งนี้ ทุเรียนจัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญและมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันแหล่งเพาะปลูกทุเรียน 5 อันดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชุมพร จังหวัดระยอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ในปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกทุเรียน จำนวน 1.05 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 1.47 ล้านตัน มีสวนที่ขึ้นทะเบียน จำนวนกว่า 83,000 แห่ง มีโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนที่ขึ้นทะเบียน จำนวนกว่า 1,500 แห่ง และโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียน ที่ได้รับการรับรอง มกษ. 9047-2560 มีจำนวน 1,087 ราย ซึ่งเป็นภาคตะวันออกมากที่สุด จำนวน 566 ราย รองลงมาคือภาคใต้ จำนวน 460 ราย ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันตก รวม 29 ราย
           สำหรับสถิติการส่งออกทุเรียน ในปี พ.ศ. 2566 มีการส่งออกทุเรียนสด 9.9 แสนตัน มูลค่า การส่งออก 1.41 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน มีการส่งออกทุเรียนสด 8.48 แสนตัน มูลค่าการส่งออก 1.32 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนตลาดส่งออกไปยังประเทศจีนคิดเป็น 96% รองลงมา คือ ฮ่องกง ไต้หวัน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าทุเรียนให้สามารถแข่งขันด้านการตลาดได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงออกกฎกระทรวง กำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566) เป็นมาตรฐานบังคับ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ซึ่งผู้ประกอบการโรงรวบรวบและโรงคัดบรรจุทุเรียน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิต รวมถึงผู้นำเข้าและผู้ส่งออก จะต้องได้รับใบอนุญาต อีกทั้งผู้ผลิตต้องขอการรับรองมาตรฐานฯ 9070 และเมื่อมีการนำเข้าและส่งออกต้องแจ้ง มกอช. ผ่านระบบ TAS License ซึ่งในปัจจุบันมีคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ตามมาตรฐานบังคับ มกษ. 9070 - 2566 จำนวน 232 คำขอ ได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 57 ใบ และมีคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ส่งออก จำนวน 81 คำขอ