เป็นองค์การระหว่างประเทศ ที่มีพัฒนาการมาจากการทำความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือแกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) เมื่อปี พ.ศ. 2490 ซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีสถานะเป็นสถาบันจนกระทั่งการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยสิ้นสุดลง และผลการเจรจาส่วนหนึ่ง คือ การก่อตั้ง WTO ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 มีสมาชิกเริ่มแรก 81 ประเทศ และมีที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 เป็นสมาชิกลำดับที่ 59 โดยมีสถานะเป็นสมาชิกก่อตั้ง ปัจจุบัน (ณ เดือนสิงหาคม 2567) WTO มีสมาชิกอย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 166 ประเทศ สมาชิกล่าสุด ได้แก่ คอโมโรส และติมอร์-เลสเต และมีประเทศที่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก WTO ที่สำคัญ เช่น แอลจีเรีย ภูฏาน อิรัก อิหร่าน ฯลฯ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก WTO ด้วยกันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 98 ของการค้าโลก และการขยายตัวของจำนวนสมาชิกจะมีผลให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
(https://www.wto.org/english/thewto_e/acc_e/acc_map_e.htm)
ข้อมูลเกี่ยวกับ WTO
สถานที่ตั้ง | นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ |
วันที่ก่อตั้ง | 1 มกราคม 2538 |
ประเทศสมาชิก | 166 ประเทศ (ร้อยละ 98 ของการค้าโลก) |
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก | Dr. Ngozi Okonjo-Iweala (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 มีนาคม 2564) |
บทบาทของ WTO | - การบริหารข้อตกลงการค้าของ WTO - เวทีเจรจาการค้า - การจัดการข้อพิพาททางการค้า - การติดตามนโยบายการค้า - การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการฝึกอบรมแก่ประเทศกำลังพัฒนา - ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ |
WTO มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การเปิดเสรีทางการค้าเพื่อประโยชน์ของทุกประเทศ ผ่านการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป (progressive liberalization) ตามความพร้อมของประเทศสมาชิก และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก กฎกติกาต่างๆ ของ WTO ได้กำหนดให้มีการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา (Special and Differential Treatment: S&D) เพื่อให้สามารถเข้าร่วมในระบบการค้าพหุภาคีได้
WTO จึงเป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเจรจาเพื่อพัฒนาและสร้างกฎกติกาใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรองรับกับวิวัฒนาการของการค้าระหว่างประเทศและรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง การเป็นสมาชิกของ WTO ทำให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิและพันธกรณี (Rights and Obligations) ที่จะต้องปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงต่างๆของ WTO โดยกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของ WTO นอกจากช่วยส่งเสริมให้การแข่งขันทางการค้าเป็นธรรมแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้ง ผู้ค้าและผู้ลงทุน ผู้ผลิตและส่งออก ให้สามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าระหว่างประเทศล่วงหน้าได้
บริหารความตกลงทางการค้าและบันทึกความเข้าใจ
ที่เป็นผลจากการเจรจาในกรอบของ GATT/WTO เช่น ความตกลงทางการค้า ความตกลงทางการค้าบริการ ความตกลงทางทรัพย์สินทางปัญญา โดยผ่านคณะมนตรี (Council) และคณะกรรมการ (Committee) ต่างๆ ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณี
การเจรจาการค้า
เป็นเวทีเจรจาเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างสมาชิกทั้งในรูปแบบมาตรการภาษีศุลกากรและมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้า บริการ และทรัพย์สินทางปัญญา
การระงับข้อพิพาท
เป็นเวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก และหากไม่สามารถตกลงกันได้ จะมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งมีกลไกยุติข้อพิพาทด้วย
การดำเนินการและติดตาม
ตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกมีการนำกฎหมายหรือมาตรการมาใช้อย่างโปร่งใสและดำเนินการถูกต้อง รวมทั้งติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศและจัดให้มีการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการตรวจสอบให้เป็นไปในแนวทางการค้าเสรี
การพัฒนาศักยภาพทางการค้า
ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านข้อมูล ข้อแนะนำ หลักสูตรฝึกอบรม การพัฒนาทักษะและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับขยายการค้า เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนทำการศึกษาประเด็นการค้าที่สำคัญ
การประสานงาน
ประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้น
องค์กรของ WTO ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายตลอดจนควบคุมการดำเนินงานของสมาชิกในเรื่องต่างๆ เรียงตามลำดับความสำคัญ มีดังนี้
1) ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Conference) เป็นหน่วยงานระดับสูงสุดของ WTO ซึ่งมักจะจัดการประชุมขึ้นทุกสองปี เพื่อทบทวนปัญหาในการปฏิบัติตามข้อผูกพันของสมาชิก และวางแนวทางในการเปิดเสรีภายใต้ WTO ต่อไป
2) คณะมนตรีใหญ่ (General Council) ประกอบด้วยเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนในกรุงเจนีวา และบางครั้งเป็นเจ้าหน้าที่จากเมืองหลวงของประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีการประชุมหลายครั้งต่อปีที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเจนีวา นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นคณะตรวจสอบนโยบายการค้า (Trade Policy Review Body) และคณะระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body)
3) คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วย คณะมนตรีด้านสินค้า (Goods Council) คณะมนตรีด้านบริการ (Services Council) และคณะมนตรีด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS Council) มีหน้าที่รายงานต่อคณะมนตรีใหญ่
4) คณะกรรมการต่างๆ (Committee) ประกอบด้วยผู้แทนของสมาชิก WTO โดยมีฝ่ายเลขานุการช่วยด้านการบริหารงานทั่วไป รับผิดชอบข้อตกลงแต่ละฉบับ และด้านอื่น ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม การพัฒนา การสมัครเป็นสมาชิก และข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค ฯลฯ
มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เป็นกฎระเบียบหรือมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ พืช และสัตว์ภายในประเทศ จากความเสี่ยงในการบริโภคหรือเสี่ยงต่อพาหะโรคที่อาจติดมากับพืชหรือสัตว์ รวมถึงสารเจือปนในอาหาร สารพิษ หรือจุลินทรีย์ปนเปื้อนที่เป็นพาหะของโรค
โดยภายใต้ความตกลง SPS ประเทศสมาชิก WTO สามารถกำหนดมาตรการของตนเองได้ โดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าหรือข้อกีดกันทางการค้าเกินความจำเป็น อ้างอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ นำมาใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช และต้องไม่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างประเทศต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงสนับสนุนการใช้มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ และข้อแนะนำจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ CODEX, IPPC, และ WOAH
ภายใต้ความตกลง SPS ดังกล่าว กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือ Committee on SPS เพื่อใช้เป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหารือระหว่างประเทศสมาชิก WTO โดยคณะกรรมการจะต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ประเทศสมาชิกนำมาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ หรือข้อแนะนำจากองค์กรระหว่างประเทศไปปฏิบัติใช้ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปรึกษาหารือหรือเจรจาระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ การตัดสินของคณะกรรรมการจะดำเนินการโดยฉันทามติ
มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ
1) เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากฎระเบียบทางเทคนิค (Technical Regulations) มาตรฐาน (Standards) และกระบวนการประเมินความสอดคล้อง (Conformity Assessment Procedures) ที่ประกาศนั้น จะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการค้า
2) ให้สิทธิแก่ประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องชีวิตหรือสุขภาพของคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายของความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าเพื่อลดการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจากการกำหนดมาตรฐานหรือกฎระเบียบเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่แตกต่างกันของสมาชิก
ศึกษารายะเอียดความตกลง SPS และ TBT เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://spsthailand.acfs.go.th