หมวด 2
สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล

    --ข้อ 6
               ให้มีสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล เพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินงานการรับรองมาตรฐานอาหาร ฮาลาลภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ และมีผู้ปฏิบัติงานประจำเต็มเวลา
    --ข้อ 7
              สถาบันมีบทบาทในการพัฒนามาตรฐาน กลั่นกรองและดำเนินการตรวจสอบ การออกใบรับรอง อาหารฮาลาลให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ให้ เป็นที่เชื่อถือยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    --ข้อ 8
              สถาบันมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
    1. ศึกษา วิจัย พัฒนาและสร้างมาตรฐานอาหารฮาลาลให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและสอดคล้องกับมาตรฐานอาหารฮาลาลสากล
    2. ศึกษา ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไขการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของผู้ผลิต ผู้บริโภค และองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
    3. พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกิจการมาตรฐานอาหารฮาลาล เพื่อให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการสนับสนุนการผลิตและการส่งออกอาหารฮาลาล
    4. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารตามคำขอของผู้ประกอบการเพื่อเสนอผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการบริหารพิจารณา
    5. ติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร วัตถุดิบ รวมถึงกระบวนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลไปแล้วเพื่อให้ผลิตภัณฑ์คงคุณภาพและมาตรฐานตามหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารฮาลาล
    6. ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานอาหารฮาลาลสากลรวมทั้งประสานงานกับองค์กรฮาลาลระหว่างประเทศและองค์กรรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลของประเทศต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อถือและการยอมรับมาตรฐานอาหารฮาลาลของประเทศไทย
    7. สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานอาหารฮาลาล และการรับรองมาตรฐานอาหาร ฮาลาลเพื่อความเชื่อถือและการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
    8. ประชาสัมพันธ์การรับรองและการอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล รวมถึงการยกเลิกการรับรองและการอนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปฏิบัติ ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและมาตรฐานอาหารฮาลาลสากล
    9. ดำเนินการด้านอื่นใด ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหาร

 
Copyright 2014 acfs.go.th